ตำนานที่สาม
กล่าวว่าเมื่อท่านหลิมเบ็กเหนียงอายุ 23 ปี
มีข่าวร่ำลือว่ามีปีศาจที่เขาดอกท้อหรือเถาฮวาซาน
(ในภาพ เทพอสูร สุ่นฮองหงี่)
เมื่อท่านตรวจสอบพบว่าเป็นความจริง และปีศาจทั้งสองนั้นมีดวงชะตา
ที่มีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวจะได้เป็นองครักษ์หรือผู้ช่วยของท่าน
(ในภาพ เทพอสูร เชียนหลีหง่าน)
ท่านจึงขึ้นเขาไปพบเพื่อเกลี้ยกล่อมสั่งสอน
ฝ่ายปีศาจ 2 ตนนั้นมีฤทธิ์หยั่งรู้ว่าท่านจะไปปราบปราม
ปีศาจตาทิพย์เชียนหลีหง่านผู้เป็นพี่จึงสั่งปีศาจหูทิพย์สุ่นฮองหงี่ผู้เป็นน้องว่า
ให้ไปรอท่านหลิมเบ็กเหนียงอยู่ที่เชิงเขาเบื้องล่าง ถ้ามีโอกาสให้รับมือก่อน
ฝ่ายน้องจึงโกรธหาว่าพี่เอาเปรียบ จึงแกล้งเป็นนอนหลับเสียในถ้ำ
เมื่อท่านหลิมเบ็กเหนียงมาถึง ท่านจึงจับปีศาจหูทิพย์ได้อย่างง่ายดาย
และนำตัวขึ้นเขาไปหาพี่ชายปีศาจตาทิพย์
ฝ่ายพี่ชายก็ประมาทพอกัน
เห็นว่าฝ่ายน้องเฝ้าอยู่เชิงเขาแล้ว คงไม่มีอะไร
ด้วยความอ่อนเพลียง่วงหลับอยู่ภายในถ้ำ
ท่านหลิมเบ็กเหนียงจึงจับโดยละม่อม
สั่งสอนปีศาจทั้งสองอบรมให้กลับเนื้อกลับใจ
จนทั้งสองกลายเป็นองครักษ์หรือผู้ช่วยของท่าน
โดยทั่วไปทั้งสองนั้นเป็นเทพอสูร เทพอสูร เชียนหลีหง่าน
เรียกนามไหหลำว่า ไซลี้มัก มักถูกสร้างรูปให้หน้าเขียวหรือดำ
ใช้มือข้างหนึ่งป้องตามองไกล
มือขวาถืออาวุธ 3 ชิ้นรวมเป็นหนึ่งเรียก ทีแซ
บ้างนิยมให้ขาขวาเหยียบไหและหอยตัวใหญ่
ส่วนเทพอสูร สุ่นฮองหงี่ เรียกนามไหหลำว่า ตุนฮวงหงี นั้น
มักถูกสร้างรูปให้หน้าแดง ใช้มือข้างหนึ่งป้องหูท่าฟังไกล
บ้างนิยมให้มือซ้ายมีงูสีแดงพันไว้
เทพอสูรทั้งสองดังกล่าวมักถูกกำหนดเป็น
องครักษ์ของพระเทียนห่อเซ่งโบ้ หรือ พระเทียนเฮ้าเต็งหม่าย
ชาวแต้จิ๋วยังเรียกท่านว่า ชิดเซี่ยม่า เนื่องจากท่านหลิมเบ็กเหนียง
เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของพี่น้องร่วมครรภ์เดียวกันทั้งหมด 7 คน
โดยทั่วไปชาวไหหลำมักสักการบูชาพระเทียนเฮ้าเต็งหม่ายร่วมกับพระตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง
บางครั้งรูปเคารพอาจคล้ายคลึงกัน แยกลำบาก จึงมักดูบริวารแวดล้อม
หากพบเห็นเทพอสูรทั้งสองเป็นองครักษ์อยู่ข้างกายของศักดิ์สิทธิ์เพียงลำพัง
รูปเคารพประธานนั้นน่าจะเป็น พระเทียนเฮ้าเต็งหม่าย หรือ พระม่าจ้อโป๋ดังกล่าว
เรียบเรียงโดย บุนเต้หลาง เมื่อ 14 พฤษภาคม ปีพุทธศักราช 2550