พิธีป้ายตั๋ว
ทั่วไปเริ่มงาน 3 วันก่อนประเพณีรับพระ นับตั้งแต่ขึ้น 28 ค่ำ เดือน 8 จนถึง 30 ค่ำ เดือน 8 (ถ้าเดือนใดเป็นเดือนขาดก็จะเริ่มตั้งแต่ 27 ค่ำ) ตามเวลาใดจะกำหนดโดนร่างทรง โดยจัดโต๊ะที่ระเบียงด้านหน้า หันหน้าออกสู่นอกประตู โดยการจัดวางต้องถูกต้องตามตำราพิธีการ นับจากจัดโต๊ะป้ายตั๋วซึ่งเป็นการอัญเชิญพระทั่วหล้าทั้งในอากาศ บนพื้นพิภพ และใต้พิภพ ไต่ซือเอี๋ย และสี่ไต่เทียนอ๋องแล้ว ยังเป็นการบูชาสถานที่เป็นนัยประกาศว่าทางศาลเจ้ามีความพร้อมเต็มที่สำหรับการจัดพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่สุดตามประเพณีแต่โบราณกาล
ในช่วงนี้ผู้มีจิตศรัทธาและเจ้าหน้าที่ประจำศาลจะช่วยกันตระเตรียมงานสถานที่ ทำความสะอาดตั๋วพระ ทุกตั๋ว เก่ว ตั่วเหรียน รมกำยานให้อบอวนไปทั่วศาล เพื่อดับกลิ่นคาวและขับไล่สิ่งชั่วร้าย(โก้ยเซ่งเอี้ยว) และประชาชนสามารถไหว้พระได้เฉพาะมณฑลพิธีป้ายตั๋วเท่านั้น
เมื่อถึงเช้าก่อนเที่ยงวันขึ้น 30 ค่ำ เดือน 8 ทางศาลเจ้าจัดให้มีประเพณีขึ้นเสาเต็งโก้แล้ว เมื่อยกเสาธงเป็นนัยประกาศว่าพระยกอ๋องส่งเต่ได้เสด็จลงมาเบื้องแรก เจ้าหน้าทีจึงเก็บโต้ะบูชาป้ายตั๋ว มาไว้ที่หน้าแท่นบูชาบูชาฟ้าดิน(เที้ยนเต่เป่โบ้) และจัดห้องบูชาพระยกอ๋องส่งเต่ภายในศาลหันหน้าออกนอกศาล
พิธีปังเอี๋ย(ป้างกุ้น)
ในประเพณีถือศีลกินผักจะมีการกำหนดเขตปริมณฑลพิธีกินผัก(ปักเฉ็กเตี๋ยม) และปล่อยทหาร(ปังเอี๋ยหรือปังกุ้น) โดยใช้ธงห้าสี 5 ทิศ ปักส่วนนอกตามมุมประตูและรั้วศาลเจ้า ส่วนกลางปักไว้หน้าอาคารศาล และทำเช่นเดียวกันมุมภายในอาคารและส่วนกลางหน้าตั๋วพระกิวอ๋องไต่เต่ ในการนี้จะมีการเหลาไม้ไผ่สลักชื่อพระผู้ใหญ่เป็นจำนวนหนึ่ง(เต็กฮู๋)ปักไว้ประตูทางเข้าศาลเพื่อให้ความศักดิ์สิทธิ์และคุ้มกันอาณาบริเวณศาลเจ้า ฮวดซูและพระทรงก็จะบริกรรมคาถาเพื่ออัญเชิญแม่ทัพนายกองพร้อมพลทหารออกมารักษาความเรียบร้อยในศาลเจ้า ตรวจตราสิ่งแปลกปลอม ไม่ให้มีภูติ ปีศาจมาทำลายพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ อันก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้เข้าร่วมพิธี
การวางกองกำลังทหารประกอบด้วย 5 ทิศของจีน
ตังเอื๋ย(ทิศตะวันออก) แม่ทัพกิ้วอี่กุ้น มีกำลังพล 99000 ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์สีเขียว
ไซ้เอี๋ย (ทิศตะวันตก) แม่ทัพหงอเต็กกัน มีกำลังพล 55000 ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์สีขาว
หล่ำเอี๋ย (ทิศใต้) แม่ทัพปั้ดบ่านกุ้น มีกำลังพล 88000 ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์สีแดง
ปักเอี๋ย (ทิศเหนือ) แม่ทัพลกหย่องกุ้น มีกำลังพล 66000 ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์สีดำ
ต่องเอี๋ย (กองกลาง) แม่ทัพส่ามซิ่นกุ้น(หลีโหลเฉี้ย) มีกำลังพล 33000 ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์เหลือง
หลังจากจุดไฟพระฤกษ์รับพระกิวอ๋องไต่เต่ และมีพิธีเลี้ยงอาหารพระ(พิธีโข้กุ้น)แล้ว จะมีการตรวจพลทหาร(เซี่ยมเมี้ย)ในยามค่ำคืนทุก 3, 6 และ9 ค่ำ
หมายเหตุกำหนดการทางพระต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับพระในร่างทรงที่กำหนดและการเสี่ยงทาย(โปวะโป้ย) ข้อความดังกล่าวข้างต้นเพียงเพื่อให้เห็นภาพของพิธีกรรมในประเพณีถือศีลกินผักเท่านั้น
หมายเหตุ
1.เกี่ยวกับวันแซยิดของพระตี่หู้อ๋องเอี๋ย ได้นำมาจากกำหนดการตามศาลใหญ่ เช่น ศาลเจ้าหนานคุนเซินไต้เทียนฝู่เป็นหลัก สืบเนื่องจากกำหนดการช่วงแรกเป็นไปดังที่เขียน เมื่อดูรายละเอียดลึกๆ แล้ว เชื่อว่า วันขึ้น 18 ค่ำ เดือน 6 ตามจันทรคติจีนน่าจะถูกต้อง(ต้องขอขอบคุณมากๆ)
อย่างไรก็ตามก็มีข้อคิดสักนิดว่า ในบรรดาตี่หู้อ๋องเอี๋ยในอ๋องเอี๋ย 360 ท่าน อาจมีแซ่ตี่เดียวกันได้อีก ดังตำนานของตี่เอี๋ยน(ฉือหราน)ที่เป็นจิ้นซือยุคสมัยราชวงศ์หมิง (คนละท่านกับตี่หู้อ๋องเอี๋ยหรือฉือเมิ่งเปียวในยุคสมัยราชวงศ์ถัง ที่เคยกล่าวไว้ในตำนานของพระหงอหู้อ๋องเอี๋ย)ซึ่งเก่งทั้งบุ๋นและบู้เมื่อคราวต้องถูกส่งตัวไปเป็นข้าหลวงประจำเมืองจังโจว ตี่เอี๋ยนได้ถวายชีวิตเพื่อปกป้องผู้คนให้รอดพ้นจากโรคร้ายระบาด พระยกอ๋องส่งเต่ จึงได้ปูนบำเน็จให้เป็นต่ายเที้ยนซุนซิ่วต่องซุนอ๋องอีกหนึ่งท่าน ข้อคิดที่สองคือการกำหนดวันใดๆ ไม่ควรปักใจเชื่ออะไรให้มาก เพราะผู้คนและประวัติรายละเอียดต่างล้มหายตายจากเป็นเวลาร้อยหรือพันปี โดยเฉพาะเมืองจีนผ่านประเทศยุคปฏิรูปวัฒนธรรมซึ่งได้ทำลายล้างสิ่งเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และผู้คนมักจะจัดฉลองวันสำคัญ อาจจะผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลา เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่นต้องรอผ่านช่วงฤดูเก็บเกี่ยวก่อน เมื่อชาวบ้านว่างจึงจัดเฉลิมฉลองกัน แม้กระทั่งศาลเจ้าท่ามกงเยี้ยอันลือลั่นในเมืองตรัง การจัดงานเฉลิมฉลองในรอบปี อาจมีความหมายสลับกับศาลเจ้าต้นกำเนิดในเมืองหุ้ยโจว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งก็ไม่มีฝ่ายใดกล้ายืนยันว่าของใครจะถูกต้องแม่นยำที่สุด การกำหนดวันจึงมักอิงกับกำหนดการเดิมๆของศาลเจ้าซึ่งนับว่าดีที่สุด
2.พระทิหู้หง่วนโส่ยกับพระฮวบจูกงมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ไม่กล้ายืนยันเพราะมีข้อมูลน้อย อาจเป็นเพราะไม่ค่อยนิยมในเมืองตรัง แต่เคยเห็นกิมซิ้นลักษณะนี้ที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยบ้าง กิมซิ้นพระทิหู้หง่วนโส่ยมักจะอยู่ท่านั่งบนเก้าอ้ ไม่สวมรองเท้า หน้าดำ ตาโต หนวดเคราผมยาว เท้าสองข้างเหยียบล้อไฟ มือขวากุมขวาน มือซ้ายอยู่ระดับหน้าอก งูพันคอเป็นสัตว์ประจำกาย ประเทศจีนนั้นแม้กระทั่งมณฑลฮกเกี้ยนเดียวกันก็ยังใหญ่โต พระเดียวกันแต่อาจต่างกันคนละตำนาน อาจเรียกไม่เหมือนกันได้ เข้าใจว่าในส่วนหนึ่งของมณฑลฮกเกี้ยนอาจบูชาตำนานของพระทิหู้หง่วนโส่ยในลักษณะเป็นเทพประจำถิ่น เพื่อความกระจ่างคงต้องสอบถามรายละเอียดจากผู้รู้หรือเจ้าหน้าที่ของศาลที่กำหนดพระทิหู้หง่วนโส่ยเป็นเทพสำคัญอีกที
3.กิมซิ้นไม่ทราบชื่อนั้นคล้ายพระเตี่ยนหู้หง่วนโส่ย แต่ไม่เหมือนนักทีเดียว (อาจเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของท่าน) กิมซิ้นของพระเตี่ยนหู้หง่วนโส่ยมักนั่งบนเก้าอี้ สวมเครื่องแบบและรองเท้าขุนนาง ใบหน้าแดง ยิ้มแย้ม ไม่มีหนวด ผูกเปีย 2 ข้าง(เป็นแมนจู) มือซ้ายวางบนตัก มือขวาจับเข็มขัดประจำตำแหน่ง มีสุนัขและไก่เป็นสัตว์คู่กาย
4.ลักษณะผ้าสามเหลี่ยมและผ้าเหลืองคาดเอวนั้น ที่ตรังมีร้านเก่าแก่พอจะสอบถามหรือให้คำแนะนำได้ตั้งอยู่หลังตลาดหัวโค้งหน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งน่าจะให้ข้อมูลได้ ถึงแม้จะไม่ตัดผ้าเหลืองขายแล้ว แต่ถ้าเราไปพูดลักษณะเชื้อเชิญให้ร่วมกันอนุรักษ์ ทางร้านน่าจะให้ความร่วมมือและจัดหาให้ได้เพราะยังพอมีเวลาเหลือ พยามเลือกแบบที่สีไม่ตกหรือฟอกแล้ว