เรียน คุณบุนเต่หล่าง
พอจะทราบประวัติองค์พระจุ้งจือไท้เซียน หรือเปล่าครับขอความกรุณาเล่าให้ฟังหน่อยน่ะครับ
มีรูปหรือปล่าวคับ และมีบทสวดมนต์ที่ใช้สวดเพื่อไหว้องค์ท่านหรือเปล่าครับ
ผมไม่ค่อยรู้เรื่องอยากได้รูปมาบูชาด้วยครับเข้าไปถามหลายเว็บแล้วไม่เห็นมีคำตอบเลยครับ
ขอบคุณล่วงหน้าครับ
ตั้ว
ศาลเจ้าทวดศาลา
ย่านตาขาว
ทวดศาลา หรือ ทวดศาหลา ตามคำใต้นี้ มีความเป็นมายาวนานหลายร้อยปีจนไม่สามารถระบุปีพุทธศักราชที่ถือกำเนิดได้ จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่และจากร่างทรงที่เคยถ่ายทอดกันมาก่อนนี้ กล่าวว่ามีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ครั้งเมื่อย่านตาขาวแห่งนี้เป็นท้องถิ่นหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองปะเหลียน นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถือว่ามาก่อนแรกเริ่มเป็นลำดับแรกของชุมชนย่านตาขาวแห่งนี้
(ในภาพ ศาลเจ้าทวดศาลา)
เดิมทีคุ้งน้ำแหล่งที่ตั้งศาลเจ้าในปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำปะเหลียน สมัยก่อนท่าน้ำแห่งนี้เป็นท่าเรือ มีเรือโดยสารและขนส่งสินค้าจากต่างประเทศสามารถเข้ามาเทียบจอดเรือได้ เนื่องจากแม่น้ำมีความกว้างและร่องน้ำลึก ต่อมามีแผ่นดินงอกทับถมยื่นออกไปในลำน้ำมากกว่า 50 เมตร ลำคลองตื้นเขินจนสูญสิ้นสภาพแม่น้ำ ชาวบ้านรุ่นหลังจึงเรียก คลองย่านตาขาว
(ในภาพ บริเวณต้นไทรริมฝั่งคลองย่านตาขาว)
ณ ท่าเรือแห่งนี้สมัยก่อนมีตลาดย่านตาขาวในรุ่นยุคบุกเบิก บรรยาศค่อนข้างคึกคัก ในสมัยนั้นมีชายมุสลิม ชาวอินโดนีเซียผู้หนึ่ง เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านย่านตาขาวทางทิศใต้ ชายคนดังกล่าวมีวิชาอาคมเล่นคุณไสย
จนเมื่อวันหนึ่งท่านเกิดเกล็ดสีดำขึ้นตามตัว นับวันมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านจึงรู้ตัวว่าท่านอยู่ที่นี่ต่อไปอีกไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากท่านกำลังกลายสภาพเป็นงู หากเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องเห็นเข้าก็จะตกใจเมื่อเห็นสภาพของท่าน
ท่านจึงปลีกตัวไปอยู่ตัวคนเดียวที่เกาะนางเรียม
ปัจจุบันคือบริเวณป่าช้าเหนือ
หมู่ 2 บ้านคลองปะเหลียน ตำบลทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว
ในที่สุดท่านกลายร่างเป็นงูจริงๆ
(ในภาพ ศาลเจ้าทวดศาลาหลังเก่า)
ภายหลังจึงปรากฏให้ลูกหลานเห็นท่านในสภาพงูสีดำขนาดใหญ่ ชาวบ้านกล่าวว่าท่านได้ โล่ เป็น ทวดงู นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียแล้ว เนื่องจากท่านกลายร่างเป็นทวดงูและไม่ได้แก่ตาย ลูกหลานจึงทำพิธีฝังศพให้ท่านด้วยการฝังศพแบบไร้ศพจริง เรียกว่าฝังแบบเทียม
หลุมฝังศพของท่านยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ดังหลักฐานคือ หลักขัน หรือ หัวตาหนา อยู่ในเปลวแขกเทศ ตั้งอยู่หลังโกดังเก็บสินค้าของร้านเล้งพานิช ริมคลองย่านตาขาวฝั่งตำบลท่าพญา อ.ปะเหลียน และลูกหลานจึงได้สร้างศาลาใต้ต้นไทรให้ทวดงูท่านสถิตย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สภาพศาลายุคแรกนั้นเป็นโรงเรือนจาก ต่อมาจึงเป็นเรือนไม้หลังคามุงจาก ภายหลังสภาพเก่าผุพังไปสิ้น
(ในภาพ แท่นบูชาของศาลเจ้าทวดศาลาหลังเก่า)
ในสมัยก่อนทวดศาลานั้นปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มาก หากใครเดินทางผ่านเส้นทางนี้ จักต้องหยุดเพื่อบูชาทวดศาลาก่อน เมื่อหนังตะลุงหรือมโนราห์เดินทางผ่านมา จึงต้องหยุดเพื่อบูชาการแสดงต่อท่านก่อน แล้วจึงเดินทางผ่านไปได้ กล่าวว่าในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีใครจมน้ำเสียชีวิต ณ บริเวณท่าน้ำของศาลทวดศาลาเลย เนื่องจากมีทวดศาลาท่านคุ้มครองปกปักรักษาอยู่
(ในภาพ ป้ายคำกลอนของศาลเจ้าทวดศาลาหลังเก่า)
เมื่อชาวบ้านประสบเรื่องทุกข์ เดือดเนื้อร้อนใจ ต้องการความช่วยเหลือ มักบนบานศาลกล่าวต่อท่าน แล้วท่านจะมาปรากฏกายให้เห็นเป็นงูตัวสีดำยาวเป็นครั้งคราวไป แล้วแต่ความพึงพอใจของท่าน ระยะหลังท่านปรากฏกายให้เห็นน้อยลง เนื่องจากเมื่อท่านช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ร้อนแล้ว ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว บางท่านไม่มีคุณธรรมและสัจจะ ไม่มาแก้บนตามคำกล่าวขอ
(ในภาพ ศาลเจ้าทวดศาลาหลังใหม่)
จนเมื่อปีพุทธศักราช 2493 ชาวจีนบ้านย่านตาขาวได้ประกอบพิธีนำกระถางธูปหินแกรนิตดั้งเดิมของศาล ประกอบพิธีอัญเชิญทวดงูท่านลงมาประทับทรง ท่านจึงลงประทับทรงครั้งแรกผ่านนายเซ่ง เตชะภาณุวัฒน์ นับเป็นร่างทรงแรกตั้งแต่บัดนั้น
(ในภาพ ศาลาถี่ก๋งและเทวดาจร งูสีดำพันเสาศาลา)
ในคราวเดียวกันนั้น มีเมื่อผู้ถูกหวยเบอร์กันมาก จึงมีผู้รวบรวมปัจจัยสร้างศาลเจ้าก่ออิฐถือปูนซึ่งเป็นศาลหลังเก่า รูปทรงเป็นอาคารจีน ตำแหน่งที่ตั้งศาลหลังนี้ตั้งอยู่หลังอาคารศาลเดิม ชื่อจารึกตามคำจีนว่า ฮูตกองเบ้ว หรือศาลทวดงู พร้อมกันนี้ให้ช่างจากเกาะปีนังแกะสลักรูปกิมซิ้นของทวดงูตามนิมิตผ่านร่างทรง เป็นกิมซิ้นชายชรา ไว้หนวด อยู่ในท่านั่ง สวมหมวกสูง มือขวาถือธงประจำกาย วางไม้เท้าไว้เบื้องซ้ายข้างกาย จนเมื่อแล้วเสร็จจึงนำกิมซิ้นนั้นวางไว้ในศาลเพื่อสักการบูชา
จวบจนปีพุทธศักราช 2527 ทางศาลเจ้าและลูกหลานเห็นว่าศาลเดิมนั้นคับแคบ จึงร่วมกันขยับขยายก่อสร้างอาคารศาลใหม่ตั้งอยู่ติดกัน อาคารศาลใหม่นั้นกว้างขวางใหญ่กว่าเดิม จารึกคำจีนนามศาลว่า ฮูตกก๋งเบ้ว หรือศาลทวดงู พร้อมกันนี้ได้สร้างศาลาเอนกประสงค์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน กิจการงานของศาลเจ้าและชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของทวดศาลาจึงกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากซบเซาไปนาน
(ในภาพ บรรยากาศภายในศาลเจ้าทวดศาลา)
เมื่อทวดศาลาลงประทับทรงผ่านร่างทรงนายเซ่ง เตชะภาณุวัฒน์ นั้นกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือไกล จนนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำย่านตาขาวแห่งนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านเชื่อว่าทวดศาลาท่านมีคุณธรรมสูงและมีความศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อชาวบ้านมีปัญหาทั้งทางใจและทางกาย ชาวบ้านก็จะมาหาท่านเพื่อให้ท่านช่วยเหลือ ท่านก็ขจัดปัดเป่าอำนวยพรให้โชคดีมีสุข
(ในภาพ ป้ายนามศาลเจ้าทวดศาลา ฮูตกก๋งเบ้ว)
นับแต่อดีตทวดศาลามีร่างทรงแล้ว 3 ท่าน ท่านแรกคือ นายเซ่ง เตชะภาณุวัฒน์ ท่านที่ 2 คือ นายก๊อกเกียง ท่านที่ 3 คือ นายตั้ว หยงสตาร์ งานประจำปีของศาลเจ้าจัดขึ้นเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่าน ราวเดือนสิงหาคมของทุกปี
(ในภาพ แท่นบูชากลางของศาลเจ้าทวดศาลา)
ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนช่วยกันดูแลรักษาศาล ศาลเจ้าตั้งอยู่ริมฝั่งคลองย่านตาขาวในเขตเทศบาลย่านตาขาว บรรยากาศทั่วไปค่อนข้างร่มรื่นเพราะอยู่ใต้ต้นไทรและอยู่ริมฝั่งคลอง รูปลักษณ์ภายนอกเป็นอาคารศาลทรงจีนค่อนข้างเรียบง่าย
ด้านหน้ามีศาลาถี่กงและเทวดาจร มีภาพสลักนูนต่ำเป็นรูปงูสีดำพันเสา ภายในอาคารศาลประกอบด้วยแท่นบูชากลางของทวดศาลา มีกิมซิ้นของทวดศาลาในภาคมนุษย์ ลักษณะเป็นชายมุสลิมชาวอินโดนีเซีย ท่านสวมหมวก เหนือขึ้นไปเป็นสัญลักษณ์โดม วงจันทร์เสี้ยวและดวงดาว เบื้องซ้ายของท่านจัดเป็นแท่นบูชาของพระโพธิสัตว์กวนอิม ส่วนเบื้องขวานั้นเป็นเทพประจำถิ่นอื่นๆ
(ในภาพ เบื้องซ้ายของทวดศาลา แท่นบูชาของพระโพธิสัตว์กวนอิม)
ศาลเจ้ามีกระถางธูปใบดั้งเดิมซึ่งแกะสลักจากก้อนหินแกรนิต ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ จะนำมาใช้เมื่อคราวมีงานประจำปีของศาลเจ้าเท่านั้น ถึงแม้ปัจจุบันสภาพของศาลเจ้านั้น ไม่มีลักษณะเป็นศาลาดังเก่าก่อน แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมเรียก ทวดศาลา หรือ ทวดศาหลา อย่างเคยชินนับเนื่องต่อกันมา
(ในภาพ เบื้องขวาของทวดศาลา แท่นบูชาพระ)
ศาลเจ้าแห่งนี้นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองตรัง ที่ถือกำเนิดต่างเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์ แต่สามารถพัฒนาความเชื่อถือศรัทธาจนนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองตรังได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะการปรับตัวหล่อหลอมเข้าสู่วัฒนธรรมประเพณีจีนพื้นบ้านในรูปลักษณ์ศาลเจ้าจีนได้อย่างลงตัว
(ในภาพ กิมซิ้นทวดศาลา)
เช่นเดียวกับหลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองตรังที่สามารถพัฒนาความเชื่อถือศรัทธาจนประสบความสำเร็จคล้ายคลึงกัน เช่น ศาลเจ้าพระพิฆเนศวร์ที่มีสองศาล ศาลเจ้าโต๊ะอดัมสิติยาวาที่มีมากกว่าสิบศาล นอกจากนั้นยังมี ศาลเจ้าทวดควนหาญ ศาลเจ้าโต๊ะนบี และศาลเจ้านาโต๊ะก๋ง เป็นต้น
ขอขอบคุณ คุณตั้ว หยงสตาร์ และ คุณวิชัย มัธยันต์
เรียบเรียงโดย บุนเต้หลาง เมื่อ 7 พฤษภาคม ปีพุทธศักราช 2550