ผมพิมพ์ข้อความนี้เสร็จหลายวันแล้ว คิดว่าจะเผยแพร่ออกดีหรือไม่ เปรียบเทียบระหว่างข้อดีข้อเสีย ในที่สุดคิดว่าควรเผยแพร่ เพราะคงต้องมีคนกล้าพูดความจริง คอยกระตุ้นเตือน รายงานสถานการณ์ประเพณีถือศีลกินผัก ณ ปัจจุบันให้รับทราบ น่าจะดีกว่าเก็บเอาไว้โดยถือว่าธุระไม่ใช่ และขอทำความเข้าใจว่าข้อความต่อไปนี้ขอให้ถือว่าเป็นคำขยายความ เป็นการให้ข้อมูลเพื่อเป็นความเข้าใจสื่อถึงกัน
ปกติการจัดตั้งศาลเจ้าเพื่อบูชาและถือศีลกินผัก(ฉ้ายตึ๋ง หรือเจตั้ว)นั้น ในสายฮกเกี้ยนหรือแม้กระทั่งที่ใดๆก็ตามในเมืองจีนไม่ว่าจะเป็น เสฉวน หูเป่ย เจียงซี เจ้อเจียง เมืองแต้จิ๋วโดยถูกต้องตามประเพณีนั้น เรียกเต้าหมู่กง(เต้าโบ้เก้ง ต่าวบูเก๊ง เตาบ้อเก็ง) แล้วแต่ท้องถิ่นใดจะเรียกตามสำเนียงท้องถิ่นนั้นๆ อันแสดงถึงเป็นศาลของพระแม่เตาโบ้เทียนจุน(เต้าโบ้หงวนกุ้น เต้าเล้าหงวนกุน) ถือเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดองค์พระกิวอ๋องฮุดโจ้วทั้ง 9 (กิวอ๋องไต่เต่) ศาลเจ้าเหล่านี้ อาจตั้งเป็นศาลเจ้าโดดๆหรืออยู่ในอาณาบริเวณศาลเจ้าอื่น หรือในวัดนิกายมหายานเช่นในประเทศไทย
วัดเล่งเน่ยยี่ (แต้จิ๋ว)ต่าวบู๊เก๊ง, วัดเล่งฮกยี่ แปดริ้ว(แต้จิ๋ว)ต่าวบู๊เก๊ง(เต้าหมู่ถาน)
สำหรับสายฮกเกี้ยนภาคใต้
ระนอง ศาลเจ้าต่ายเต่เอี๊ย เตาโบ้เก้ง พระโป้เซ้งไต่เต่เป็นเจ้าศาล
พังงา ศาลเจ้าแม่กวนอิม(กู๋ฉ้ายตึ๋ง)ตะกั่วป่า เตาโบ้เก้ง มีเจ้าแม่กวนอิมเป็นเจ้าศาล(เดิมพระเล่าเอี๋ย)
ศาลเจ้ากวนอู(ซินฉ้ายตึ๋ง)ตะกั่วป่า เตาโบ้เก้ง มีพระกวนเต้กุ้น(กวนอู)เป็นเจ้าศาล
ศาลเจ้าในสวน ตะกั่วป่า เตาโบ้เก้ง มีเจ้าแม่กวนอิมเป็นเจ้าศาล
ศาลเจ้ามาจ้อโป๋ พังงา เตาโบ้เก้ง มีพระเที้ยนส่งเส่งโบ้(มาจ้อโป๋)เป็นเจ้าศาล
กระบี่ ศาลเจ้าจ้อซูก๋ง เหนือคลอง เตาโบ้เก้ง มีพระเฉ่งจุ้ยจ้อซือ(จ้อซูก๋ง)เป็นเจ้าศาล
ภูเก็ต ศาลเจ้ากระทู้ ในทู เตาโบ้เก้ง มีพระเตี่ยนหู้หง่วนโส่ย(เล่าเอี๋ย)เป็นเจ้าศาล
ศาลเจ้าบางเหนียว บ่างเหลียว เตาโบ้เก้ง มีพระส่ามหู้อ่องเอี๋ย(ส่ามต่องอ๋อง)เป็นเจ้าศาล
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย เตาโบ้เก้ง มีพระทิหู้หง่วนโส่ยเป็นเจ้าศาล
ศาลเจ้าหลิมฮู้ไท้ซู สามกอง เตาโบ้เก้ง มีพระหลิมฮู้ไท้ซู (หลิมไท้ซือ)เป็นเจ้าศาล
ศาลเจ้าท่าเรือ เตาโบ้เก้ง มีพระโป้เซ้งไต่เต่เป็นเจ้าศาล
ศาลเจ้าหล่อโรง เตาโบ้เก้ง มีพระเฉ่งจุ้ยจ้อซือ(จ้อซูก๋ง)เป็นเจ้าศาล
ศาลเจ้าเชิงทะเล เตาโบ้เก้ง(กิ่มหุ้ยเตี่ยน) มีพระส่ามหู้อ่องเอี๋ย(ส่ามต่องอ๋อง)เป็นเจ้าศาล
หมายเหตุ คำว่าเจ้าศาลมีความหมายถึงประธานศาล คนละความหมายกับประธานพิธีกินผัก มักจะนำกิมซิ้นเจ้าศาลอยู่บนสุดห้อมล้อมด้วยกิมซิ้นพระอื่นๆ
จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วศาลเจ้าเหล่านี้ที่ประกอบพิธีกินผัก สืบทอดประเพณีอย่างเข้มข้นนั้นไม่ได้มีพระกิวอ๋องไต่เต่เป็นเจ้าศาล เพียงแต่เมื่อถึงงานประเพณีกินผักก็จะอัญเชิญมาเป็นประธานพิธีกินผัก จัดให้มีหล่ายตั๋วอย่างสมพระเกียรติทุกศาลเจ้าและขึ้นเสาตะเกียง 9 ดวงเป็นสัญลักษณ์ทุกศาลเจ้า เฉกเช่นเดียวกับศาลเจ้าใดๆก็ตามเมื่อรับพระกิวอ๋องไต่เต่(กิวอ้วงฮุดโจ้ว-แต้จิ๋ว หรือ เก๋าหว่องเหยี่ย-กวางตุ้ง)มาเป็นพระประธาน ย่อมถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดแล้ว สามารถบูชาเสาเต็งโก(เต็งกอ)ที่มีสัญลักษณ์ตะเกียง 9 ดวงได้ตามตำราพิธีกรรมทุกประการ ถึงแม้ศาลเจ้านั้นจะไม่มีพิธีกรรมทรงพระ เว้นเสียแต่ศาลเจ้านั้นแอบแฝงจัดงานในช่วงเดียวกันโดยที่ไม่มีความพร้อม เช่นไม่ชัดเจนถึงพระที่มาเป็นพระประธานว่าเป็นพระกิวอ๋องหรือไม่ ถ้าเป็นดั่งนี้สมควรที่จะแจ้งให้ยุติ และสนับสนุนให้ประกอบพิธีกินผักในโอกาสอื่นในรอบปีจะดีกว่า และศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยก็เป็นจับเตี่ยน(ทับเที่ยง)เตาโบ้เก้งหนึ่ง และศาลเจ้ากิวอ๋องไต่เต่ห้วยยอดก็เป็นโห่ยยิด(ห้วยยอด)เตาโบ้เก้งหนึ่ง หรือกรณีศาลเจ้าเห้งเจีย ปะเหลียนใน ปกติมีพระจี้เที้ยนไต่เส่ง(พระเห้งเจียหรือไต่เซี่ยฮุดจ้อ)เป็นเจ้าศาล เมื่อรับพระกิวอ๋องไต่เต่มาเป็นประธานพิธีกินผัก มีหล่ายตั๋วของท่าน ทางศาลก็เรียกตัวเองว่า ปะเหลียนใน เตาโบ้เก้งเช่นเดียวกัน ในกรณีศาลเจ้าหมื่นรามถึงแม้เป็นแต้จิ๋ว แต่ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเป็นศาลเจ้าประกอบพิธีกินผักของพระกิวอ้วงฮุดโจ้ว ซึ่งรับมาเป็นประธานในพิธี อันเป็นสิ่งเดียวกันกับพระกิวอ๋องของศาลใดๆที่ประกอบพิธีกินผักเดือนเก้า การให้ความเคารพต่อพระกิวอ๋องควรต้องเสมอเหมือนกัน ศาลเจ้าเองมีหล่ายตั๋ว กิมซิ้นของเต้าบ้อง้วนกุน(เต้าโบ้เทียนจุน)และกิวอ้วงฮุดโจ้วทั้ง 9 ศาลเจ้าหมื่นรามนอกจากเรียกตัวเองว่าซำฮวดซือเซี่ยเบี่ยที่แสดงถึงพระซำฮวดซือเป็นเจ้าศาลแล้ว ควรต้องเรียกว่าเตาบ้อเก็งเช่นเดียวกัน อาจเป็นท้ายพรุเตาบ้อเก็งเพื่อบ่งบอกให้ชัดเจนว่าเป็นศาลเจ้าของเต้าบ้อง้วนกุนและพระกิวอ้วงฮุดโจ้วในอีกทางหนึ่ง
กรณีค้ำหยิ่น เป็นดวงตราลัญจกรสำหรับประทับหลังเสื้อ หลังจากลงชื่อกินผัก ไหว้พระ (กุ่ยเก้าป๋าย)แล้ว คำทั้ง 4 คือ กิวอ๋องไต่เต่ ไม่มีคำใดเลย ที่บ่งถึงชื่อของศาลเจ้า(ไม่ใช่ตราของศาลเจ้า หลายคนยังเข้าใจผิดว่าเป็นตราศาลเจ้า) ถึงแม้มีผู้พยายามแทรกคำว่า เจี้ยเตี่ยน (ศาลแรก) เข้าไปใน 1-2 ปีหลังนี้ ทั้งทีพระนามกิวอ๋องไต่เต่ ใช้กันมาตั้งแต่แรก ด้วยความภาคภูมิถึงการได้เป็นปวงประชาราษฎร์ของพระกิวอ๋อง ทางศาลเจ้าหมื่นรามเองก็มีค้ำหยิ่นคำว่ากิวอ้วงฮุดโจ้วรูปลักษณ์แบบเดียวกัน ถ้าจำไม่ผิดแรกเริ่มมีการประทับตราที่เสื้อเป็นสีอื่น ไม่ใช่สีแดง(น่าจะเป็นสีเขียว) ถ้านำมาใช้คงแบ่งแยกกันโดยรูปลักษณ์ภาคนอกชัดเจน จะไปไหว้พระอีกศาลคงต้องเปลี่ยนเสื้อผ้ากันอีก เพราะจะกลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกซึ่งกันและกัน ทั้งที่พระที่เราเคารพนับถือโดยสถานะเป็นพระกิวอ๋องเดียวกัน เพียงแต่มีบริบทของผู้เกี่ยวข้องทำให้มีความรู้สึกแตกต่างกัน ที่เสนอแนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันนั้น เพราะหลักการที่จะทำให้ผู้อื่นมาเป็นพวกเดียวกัน เราต้องยื่นน้ำใจให้ก่อน ให้เขาเข้ามาเป็นพวกเดียวกับเราแล้วแรงเสียดทานจะน้อย เราจะไม่เหนื่อยต้องมาต่อสู้ความคิดและนั่งอธิบายผู้อื่น ว่าต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดจึงถูกต้อง ถ้าจะให้เขาทำอะไรแล้วต้องไม่เหมือนกับเรา ต่อไปเราจะลำบาก จะมีศาลเจ้าใหม่เกิดขึ้นที่ไม่ทำตามประเพณีเดิมห้อมล้อมเรามากมาย ในเมื่อทุกศาลเจ้าเขาไม่ทำเหมือนเรา แล้วเราจะมานั่งภูมิใจได้อย่างไร ว่าเราคือต้นตำหรับ มีเกร็ดเล็กน้อย ศาลเจ้าหลายศาลเจ้าในจ.ภูเก็ต ยุคกลางเก่ากลางใหม่นั้น เกิดขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากศาลเจ้าเก่าแก่ ถ้ามีประชาชนเรียกร้องด้วยความศรัทธาขอเฉี้ยเ***่ยวโห้ยมาตั้งศาลใหม่ อย่างเช่น ศาลเจ้าเชิงทะเล อ.ถลาง ผู้คนไม่สะดวกที่จะเดินทางเข้าในเมือง ศาลเจ้าบางเหนียวจึงช่วยเหลือ ทั้งด้านพิธีกรรม ตำรับตำรา ที่สำคัญมอบเสาโกเต้ง(ที่ภูเก็ต เสาโก้เต้งนิยมใช้เสาไม้เนื้อแข็งถาวร ใช้ได้ชั่วลูกชั่วหลาน) ให้ศาลเจ้าเชิงทะเลนำไว้ใช้สืบไป เมื่อจะย้อนดูประวัติศาสตร์กี่ครั้งชาวเชิงทะเลก็ยังรำลึกถึงเสมอมา หรือศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยช่วยเหลือในการริเริ่มประกอบพิธีกินผักให้ศาลเจ้ามาจ้อโป๋ ใจกลางเมืองพังงา สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ และศาลเจ้าเหล่านี้ก็จะรำลึกถึงต้นแบบมาจนปัจจุบัน และท้ายสุดกรณีค้ำหยิ่นนี้ ถ้าเราไม่เริ่มตระหนักถึงความสามัคคีพร้อมเพรียง ก็จะมีศาลเจ้าในจังหวัดอื่นที่เห็นส่วนดีของเรา คนตรังของเราเองนำไปใช้นอกจังหวัด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จะมีชาวคณะต่างจังหวัด เช่น ศาลเจ้าหาดใหญ่เตาโบ้เก้งจะมาช่วยอนุรักษ์ใช้ค้ำหยิ่นโดยพร้อมเพรียงแทน(ปกติที่จังหวัดอื่นๆทั่วไปไม่มีการใช้ค้ำหยิ่นของพระกิวอ๋องไต่เต่ประทับหลังให้ทุกคน มักจะประทับให้บางคนที่ผ่านกรณีโก้ยห่าน-สะเดาะห์เคราะห์เท่านั้น ซึ่งที่ตะกั่วป่าจะประทับให้กลางหลัง ส่วนภูเก็ตจะประทับบนเสื้อที่ใดก็ได้ ดังนั้นการใช้ค้ำหยิ่นประทับกลางหลังให้ลูกพระทุกคนนี้ จึงเปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของพี่น้องชาวตรังโดยแท้จริง) ท่านทราบหรือไม่ว่าประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาได้มีผู้พยายามก่อตั้งศาลเจ้าเตี่ยนหู้หง่วนโส่ยประกอบพิธีกินผักตามแบบฉบับฉ้ายตึ๋งกังไซ้(แบบภูเก็ต) ที่ ต.เขาวิเศษ ตรัง ยกเสาและลงเสาโกเต้งห้าโมงเย็น ยกลงเสาส่วนย่อลงแตะพื้นเติมตะเกียงน้ำมัน โก้ยโห้ยโดยถ่านไฟคลุก ต่อไปถ้าพระออกเที่ยวแล้วมีคนจุดประทัดจ่อบนตั่วเหรียน ยิ่งจ่อมาก ยิ่งศรัทธามากในเมืองตรังแล้ว ท่านจะคิดอย่างไร ถ้าท่านไม่รุกทางวัฒนธรรมในเชิงบวกแล้ว ส่งเสริมให้สร้างศาลเจ้ากินผักตามแบบฉบับของท่าน เป็นศาลลูกเครือข่ายแล้ว ท่านก็จะเป็นฝ่ายตั้งรับตลอดกาล แล้วท่านรับภาระที่จะสืบประเพณีกินผักตามแบบฉบับฮกเกี้ยน(ตรัง)นี้ได้นานสักแค่ไหน
ส่วนการอัญเชิญพระทุกศาลเจ้ามาร่วมประเพณีกินผักนั้นหมายถึงศาลเจ้าที่เป็นไปได้ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันหลายศาลเจ้า(ฮกเกี้ยน)เฉี้ยกิมซิ้นไปกินผักที่จังหวัดอื่น เช่นหาดใหญ่ ภูเก็ต เป็นต้น หรือศาลเจ้าหลายศาลเจ้า(ฮกเกี้ยน)ในเขตย่านตาขาว ห้วยยอด ศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีกิมซิ้นเป็นร้อยไม่ได้เฉี้ยกิมซิ้นไปกินผักที่ใดเลย ข้อความจึงเพียงกระตุ้นให้ตื่นตัวกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในประเพณีกินผักเท่านั้น ส่วนพระสายภาษาอื่น เช่นไหหลำ กวั้งอู้(กวางตุ้ง)นั้น แท้จริงมีการนับถือพระหลายองค์เช่นเดียวกับฮกเกี้ยน แต่อาจเรียกกันคนละนาม เช่น พระยกอ๋องส่งเต่-พระยี่หวั่ง(ไหหลำ) พระตั่วแปะก๋อง-พระท้ายปักกุง(กวางตุ้ง) พระ***นเที้ยนส่งเต่-พระปักตี่(กวางตุ้ง)หรือตั่วเหล่าเอี้ย(แต้จิ๋ว) พระ***บเที้ยนไต่เต่ กวนเต้กุ้น-กวนกุ้ง(กวางตุ้ง) กวนเซี่ยตี่กุน(แต้จิ๋ว) เป็นต้น กล่าวว่าเมืองตรังเป็นพหุสังคมของชาวจีน ในขณะที่ชาวฮกเกี้ยนคิดว่ามากแล้ว ชาวกวั้งอู้(กวางตุ้ง)มีมากไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน อาจจะทั่วทั้ง ต.นาตาล่วง บ้านโพธิ์ ยังไม่รวมถึงชาวแต้จิ๋วในตลาดทับเที่ยงและ ต.ทุ่งยาว ชาวไหหลำแถบย่านตาขาว ห้วยยอดและลำภูราเป็นต้น ผู้คนเหล่านี้ต่างเข้าร่วมและเป็นผู้ค้ำจุนประเพณีกินผักตามแบบฉบับฮกเกี้ยนทั้งสิ้น แต่เรียกนามพระกิวอ๋องต่างๆกันในแต่ละภาษา
กรณีในแง่ประเพณีที่เกี่ยวข้อง เช่นการสวมรองเท้าหามตั่วเหรียน ดูอย่างไรก็ไม่เหมาะสม ปัจจุบันยังอยู่ในวิสัยที่ป้องปรามได้อยู่ ใน 20 คน อาจมีสัก 1 คนที่สวมรองเท้า (คนนั้นอาจอ้วน เป็นเบาหวาน ที่ไม่ต้องการให้เท้าเป็นแผลหายยาก) เราจะเลือกแบบไหนระหว่างบอกให้ 1 คนถ้าลำบากนัก ไปพักก่อน หรือ บอกให้อีก 19 คนทำไมไม่ใส่รองเท้า ร้อนนะ แล้วคนที่ก้มลงกราบหัวจรดพื้นเมื่อตั่วเหรียนผ่านหน้าบ้านจะคิดเห็นอย่างไร จะยังก้มลงกราบอีกหรือไม่ ก็ในเมื่อคนหามยังไม่ให้ความเคารพถึงที่สุดกับสิ่งที่เขาหามอยู่เลย อย่าลืมว่าประเพณีนี้เกิดขึ้น หล่อหลอมมาด้วยชาวตรังทั้งหมด ไม่ใช่เป็นสิทธิของกรรมการ(โดยปกติกรรมการคือคนที่ชาวบ้านให้ความไว้วางใจ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป สักกี่ร้อยปีศาลเจ้าก็ยังคงอยู่ ประเพณีถือศีลกินผักก็ยังต้องดำรงอยู่)หรือคนหามจะทำอะไรก็ได้ ถ้าท่านพอมีภาพคณะผู้ฟัดเก่วของศาลหนึ่งวัยรุ่นใส่รองเท้าผ้าใบหลากยี่ห้อ ถูกบ้าง แพงบ้าง ลากแตะบ้าง อีกศาลเจ้าหนึ่งไม่สวมรองเท้าโดยประเพณีที่สืบมาด้วยกริยาท่าทางทะมัดทะแมง ท่านคิดว่าท่านจะมองศาลใดแล้วบังเกิดมีความปิติ อิ่มเอิบและพึงพอใจ
กรณีการส่งพระนั้น เป็นเพราะจากการเกิดสังเคราะห์ปัญหาโดยพื้นฐานความจริงที่ว่าผู้เขียนมองด้วยความตรงไปตรงมา ไม่ได้เข้าไปอยู่ในฐานะกรรมการของศาลเจ้าแห่งใด ถ้านับอายุด้วยความเก่าแก่ต้องรำลึกถึงศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยและกิวอ๋องไต่เต่ห้วยยอดเป็นหลัก และการกล่าวถึงศาลเจ้ากิวอ๋องห้วยยอดบ่อย ไม่ได้หมายถึงผู้เขียนเป็นชาวห้วยยอดหรือกรรมการศาลเจ้าห้วยยอด แต่มีความตั้งใจกล่าวถึงในแง่กระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้หันกลับมามองพื้นฐานที่เป็นอยู่ สิ่งดีที่มีอยู่ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชาวตรังทั้งมวล ในเมื่อหมดยุคเทศกาลถือศีลกินเจในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา และเข้าสู่รากฐานความเป็นจริงของประเพณีถือศีลกินผักดั้งเดิมแล้ว จึงควรต้องทบทวน ไม่มุ่งหวังเพียงแค่จัดงานเพื่อสนองเศรษฐกิจเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมที่อยู่ในเขตเทศบาลตรังเท่านั้น แต่ให้คำนึงถึงความมีส่วนร่วมของชาวตรังทั้งจังหวัดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ถามว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานับจากประชาสัมพันธ์เทศกาลถือศีลกินเจครั้งแรก มีชาวบ้านในเขตเทศบาลตรังสักกี่มากน้อยที่รับรู้ว่ามีศาลเจ้ากินผักเก่าแก่อยู่แห่งหนึ่งที่ตลาดห้วยยอด ถ้าคำตอบส่วนใหญ่ว่าไม่ทราบ ไม่เคยได้ยิน ไม่เห็นมีใครบอก นั่นแสดงถึงความล้มเหลวในการประชาสัมพันธ์งานนี้อย่างแท้จริง และจากปัญหาที่ผ่านมา ต้องยอมรับความจริงว่า เราไม่มีกิจกรรมทางพระที่คึกคักมากพอจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญมาจากแดนไกลได้หลังจากศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยออกเที่ยว 6 ค่ำแล้ว นักท่องเที่ยวทั้งที่มาด้วยตนเองหรือกรุปทัวร์นั้นมุ่งหน้าไปยังภูเก็ตทันที เพราะวันรุ่งขึ้น 7 ค่ำเป็นวันสำคัญขบวนพระออกเที่ยวของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย อีกวัน 8 ค่ำเป็นของศาลเจ้ากะทู้(ศาลเจ้าเก่าแก่) วันสุดท้าย 9 ค่ำ ช่วงเช้าพระออกเที่ยวของศาลเจ้าหล่อโรง ช่วงค่ำศาลเจ้ากะทู้ลุยไฟ และที่สำคัญทุกคนเฝ้ารอคืนส่งพระอันยิ่งใหญ่ในเมือง ซึ่งมีถึง 3 ขบวน (สับหลีกเวลาห่างกันประมาณครึ่งถึงหนึ่ง ชม) ได้แก่ศาลเจ้าบางเหนียวก่อน ลักษณะเดียวกับศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยคือเป็นปากทางไปสะพานหินอยู่แล้ว แต่ก็ย้อนผ่านเมืองก่อนหนึ่งรอบ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยถัดมา และศาลเจ้าสามกองสุดท้าย การผ่านเมืองนอกจากมีประโยชน์ในแง่การท่องเที่ยวแล้ว ประชาชนทั่วไปย่อมได้ส่งพระทั่วถึงจริงๆ ถ้าเราสังเกตในปัจจุบันครอบครัวที่กินผักสมมติเป็นครอบครัวใหญ่ 10 คน จะมีคนไปส่งพระที่ศาลเจ้าแค่ 2-3 คน นอกนั้นไม่ได้ไป อาจเนื่องจากต้องดูแลครอบครัว เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ หรือไปลำบาก ทนความแออัดไม่ได้ กล่าวว่าไม่น่าจะทั่วถึง ยังไม่รวมถึงคนที่ไม่กินผัก อย่าลืมว่าชาวตรังบางคนไม่กินผักก็จริงแต่ก็นับถือกราบไหว้ ตั้งโต๊ะหมู่บูชาในวันพระออกเที่ยวเช่นกัน และโดยรูปแบบก็ไม่ได้ซ้ำกับพระออกเที่ยว ไม่ได้แสดงอภินิหาร ไม่ได้ฟัดเก่ว ไม่ได้ตั้งโต๊ะบูชา เพียงร่วมกันจุดธูปส่งพระหน้าบ้าน ฝากธูปไปกับเด็กๆในขบวน ร่วมกันจุดประทัด การส่งพระลงเรือก็มีดังเดิม ประเพณีก็เหมือนเดิมเพราะปัจจุบันพระออกนอกเมืองประชาชนก็ทำแบบนี้อยู่ แต่เบาบางมาก เพราะไม่มีบ้านเรือน เพียงแต่มีระยะทางเพิ่มขึ้น ผ่านฝูงชน สามารถเรียกศรัทธาคนได้มากขึ้น คนที่ไม่เคยกินผัก เห็นคนส่งพระกันมากมาย ก็มีจิตใจอิ่มเอิบ ปีหน้าก็จะมีความคิดริเริ่มกินผัก การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจทำให้เกิดบางสิ่งดีขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่ช่วยอนุรักษ์ประเพณีได้เป็นอย่างดีโดยระดับผลกระทบในแง่ลบต่อความเปลี่ยนแปลงแทบจะน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันเลย น่าจะเป็นผลกระทบในแง่บวกมากกว่า อย่าลืมว่าแต่เดิมพระออกเที่ยวเราไม่เคยต้องเลี้ยวขวาขึ้นไปมูลนิธิ ศาลเจ้าหมื่นราม อ้อมมาออกหอนาฬิกาเลย ทั้งๆที่มีผลกระทบ ทำให้ต้องเดินมากขึ้น เหนื่อย ขบวนขาดตอน ก็จะมีผู้คนออกนอกแถว นั่งพักเพื่อตัดขบวน และเมื่อธูปหมดเล่มก็เลยไม่เดินต่อ สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลกระทบจริง และการหากิจกรรมดั้งเดิมที่ได้ขยายผล เพื่อดึงดูดคนมาร่วมกิจกรรมในเมืองตรังแบบนี้ตรงประเด็น น่าจะดีว่าต้องเสียเงินหลายๆแสน เพื่อเป็นค่ารางวัลในการประกวดธิดาต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสาระของงานประเพณีนี้เลย
ด้วยจิตคารวะ /ท่ามกงจื้อซุน