ต่อมาปีพุทธศักราช 2516 ทางศาลเจ้าจึงได้เริ่มจัดให้มีพิธีลุยไฟขึ้นภายในศาล โดยเฉพาะกรรมการศาลเจ้าพ่อเขาตกและเจ้าพ่อหมื่นรามตรัง เพื่อเสริมศิริมงคลและให้บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์
(ในภาพ การเตรียมงานเจ้าพ่อเขาตก บันไดมีด)
จนถึงปีพุทธศักราช 2518 ทางกรรมการศาลเจ้าพ่อหมื่นรามได้ริเริ่มการประทับทรงให้กับนายเซี้ย หรือ นายประสิทธิ์ เลิศธนะลักษณ์ ซึ่งต่อมาเป็นร่างทรงเจ้าพ่อเขาตก กับ นายบักเว้ง แซ่ตั้ง ซึ่งต่อมาเป็นร่างทรงเจ้าพ่อองครักษ์ที่ 9 เพื่อประทับทรงเมื่อมีงานสำคัญ เนื่องจากภายหลังปีพุทธศักราช 2518 แล้วทางกรรมการศาลเจ้าพ่อหมื่นราม จ.ตรัง อาจมาไม่ได้เช่นทุกปี
(ในภาพ เทวรูปจำลองขนาดย่อมของเจ้าพ่อเขาตก)
ในปีนั้นทางเจ้าพ่อองครักษ์ที่ 9 ซึ่งประทับทรงนายบักเว้ง ได้ดำริริเริ่มจัดงานกินเจขึ้นเป็นปีแรก โดยจัดเป็นการภายในก่อน แล้วจึงขยายการจัดงานออกสู่ภายนอกในเวลาต่อมา ภายหลังปีพุทธศักราช 2518 ทางศาลเจ้าพ่อหมื่นราม จ.ตรัง ไม่ได้มาช่วยทางศาลเจ้าด้วยตนเอง แต่ได้ส่ง โกเจียก ไทรงาม ร่างทรงพระยี่ก๋งและโป้ยก๋งจากศาลเจ้าพระ 108 ท่าข้าม จ.ตรัง ให้มาช่วยเหลือ และในปีพุทธศักราช 2523 จึงมีนายนิคม ทองแก้ว หรือ โกดำ ลูกศิษย์ของท่านได้มาช่วยงานอีกคน
(ในภาพ ศาลเจ้าพ่อเขาตก ตั้งอยู่ภายในโรงเจเก่า ใกล้รอยพระพุทธบาท)
โกเจียกนั้นนับว่าเป็นบุคคลที่สำคัญต่อศาลเจ้าพ่อเขาตกช่วงนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อคราวงานกินเจในปีพุทธศักราช 2528 พระยี่ก๋งลงประทับทรงในร่างทรงโกเจียกอยู่นั้น ได้เรียกคุณเสรี รองประธานกรรมการศาลเจ้าพ่อเขาตกในขณะนั้น เข้าพบภายในห้องพระราชฐานชั้นใน กระซิบกล่าวว่าเบื้องบนมีคำสั่งให้สร้างศาลพระกิวอ๋อง เพื่อให้สาธุชนได้ปฏิบัติธรรม โอกาสดีเช่นนี้หาไม่ได้ง่าย คุณเสรีจึงรับไว้ แต่ยังไม่รับปาก เนื่องจากยังนึกถึงปัญหาต่างๆ ครั้งเมื่อแรกสร้างศาลเจ้าพ่อเขาตกหลังนี้
(ในภาพ เทวรูปเจ้าพ่อเขาตกรูปลักษณ์ไทยและกิมซิ้นของเจ้าพ่อเขาตกรูปลักษณ์จีน)
ต่อมาพระยี่ก๋งในร่างทรงโกเจียกได้ย้ำข้อความนี้อีกครั้งเมื่อคราวงานกินเจในปีพุทธศักราช 2530 บอกว่าโอกาสดีเช่นนี้หาไม่ได้อีกแล้ว ต่อมาเมื่อคุณเสรีได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการศาลเจ้า ท่านจึงสร้างรูปแบบจำลองของศาลพระกิวอ๋อง และเริ่มผลักดันโครงการ สาธุชนเมื่อเห็นแบบจำลองดังกล่าวก็ปลาบปลื้มช่วยกันอนุโมทนา
(ในภาพ หน่ำเทียนหมุนแปะก๋ง กิมซิ้นของเจ้าพ่อเขาตกรูปลักษณ์จีน)
ในปีพุทธศักราช 2531 พระยี่ก๋งท่านประทับทรงโกเจียก ท่านได้ลงตรวจดูฤกษ์ยามก่อสร้างศาลพระกิวอ๋อง จนได้ฤกษ์ยาม ภายหลังเมื่อนำฤกษ์ยามไปปรึกษาต่อเจ้าคณะอำเภอบ้านหมอ วัดพระพุทธบาท ท่านก็เห็นควร จึงจัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลพระกิวอ๋องเมื่อวันที่ 25 มกราคม ปีพุทธศักราช 2532 โดยพระยี่ก๋งในร่างทรงของโกเจียกได้ลงมือจัดตำแหน่งเสาหลักด้วยตนเอง
ในครั้งนั้นพระยี่ก๋งและเจ้าพ่อองครักษ์ ท่านรับสั่งให้นำผงธูปจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ทิศ 8 ทิศจากวัดจีน วัดไทยและโรงเจต่างๆ 38 แห่งทั่วประเทศ สำหรับศาสนสถานในภาคใต้นั้นมี 4 แห่ง ได้แก่ พระธาตุยอดทอง จ.นครศรีธรรมราช พระธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี และศาลเจ้ากิวอ๋องไต่เต่ ห้วยยอด จ.ตรัง โดยนำผงธูปบรรจุลงในฐานที่ตั้งบุษบกของพระกิวอ๋อง
ต่อมาจึงก่อสร้างศาล โดยต่อเติมไปยังข้างหลังของอาคารศาลเดิม จัดเป็นอาคารจีนสูง 3 ชั้น ตามแบบโรงเจแปดริ้ว แต่ย่อส่วนลงอีก มูลค่าการก่อสร้างในครั้งนั้นราว 15 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงต่อเติมและขยับขยายต่อมา ดังปรากฏเห็นในสภาพปัจจุบัน สำเร็จเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารศาลเจ้าชุดที่ 15 ต่อเนื่องไปยังชุดที่ 16 นับว่าเป็นศาลเจ้าที่สวยงามและสง่ามากที่สุด นับเป็นศาสนสถานที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานสืบไป
สภาพศาลเจ้าในปัจจุบันมีอาณาบริเวณกว้างขวางพอสมควร เป็นที่ทำการของมูลนิธิเจ้าพ่อเขาตก พระพุทธบาท สระบุรี แต่ละวันคลาคล่ำด้วยสาธุชนผู้ศรัทธา และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ ด้านหน้ามีศาลาแท่นบูชาฟ้าดินและเสาตะเกียงมังกร เหนือประตูศาลจารึกคำ หน่ำเทียนหมุนแปะก๋ง
(ในภาพ แท่นบูชาของเจ้าพ่อเขาตกรูปลักษณ์จีน ยี่แปะก๋ง)
ภายในศาลมีเทวรูปจำลองของเจ้าพ่อเขาตกองค์ใหญ่ ซึ่งหล่อขึ้นใหม่ในภายหลังตั้งอยู่กลางศาล ภายในศาลส่วนกลางเป็นแท่นบูชากลางของเจ้าพ่อเขาตก เบื้องซ้ายมีกิมซิ้นพระเด็กสวมเสื้อแดง ซึ่งชาวบ้านไทยภาคกลางเรียก พ่อหนูแก่น หนูจุ้ย ส่วนกิมซิ้นพระเสือ ชาวบ้านเรียก พ่อเสือลาย
(ในภาพ แท่นบูชาของเจ้าพ่อเขาตกรูปลักษณ์จีน ซาแปะก๋ง)
กิมซิ้นเจียงกุนเอี๋ย หรือ เจ้าพ่อองครักษ์ ซึ่งหมายรวมทั้ง 18 ท่าน ซึ่งทางศาลเจ้าพ่อเขาตกทรงองครักษ์ที่ 9 เป็นหลัก ต่างจากศาลเจ้าหมื่นราม จ.ตรัง ที่ทรงองครักษ์ที่ 2 เป็นหลัก เบื้องขวามีก๋งป๋ายของ พระ 108 แท่นบูชาเบื้องซ้ายเป็นแท่นบูชา พระไฉซิงเอี๊ย เทพแห่งโชคลาภ แท่นบูชาเบื้องขวาเป็นแท่นบูชาของ เจ้าพ่อหมื่นราม ริมกำแพงด้านซ้ายเป็นแท่นบูชาของ เจ้าแม่กวนอิม และ พระพุทธประจำวันเกิด
เมื่อขึ้นไปชั้นที่ 2 แท่นบูชากลางเป็นแท่นบูชาและกิมซิ้นของ พระเต้าบ้อหงวนกุน และ พระกิวอ๋องฮุดโจ้ว ทั้ง 9 องค์ ด้านข้างทั้งสองฝั่งเป็นกิมซิ้น พระปักเต้าแชกุน และ พระหน่ำเต้าแชกุน แท่นบูชาเบื้องซ้ายเป็นแท่นบูชา พระไต่เซี่ยฮุดโจ้ว แท่นบูชาเบื้องขวาเป็นแท่นบูชา พระพุทธ พระไต๋ฮงโจวซือ และ พระเฉ่งจุ้ยโจวซือ
ส่วนศาลเก่าที่ตั้งอยู่ที่เขาตกนั้น เป็นอาคารศาลหลังเล็กมีเทวรูปเจ้าพ่อเขาตกเดิมอยู่ตรงกลาง และมีเทวรูปด้านหน้าชาวบ้านเรียก เจ้าตาก แท่นบูชาเบื้องซ้ายเป็นเด็กสวมชุดแดงชาวบ้านเรียก พ่อหนูจุ้ย แท่นบูชาเบื้องขวาเป็น พ่อเสือลาย ส่วนภายนอกศาลเบื้องหน้าเป็นศาลาแท่นบูชาฟ้าดิน ด้านข้างขึ้นไปบนเขามีศาลาเจ้าแม่กวนอิม พระสังขจาย ศาลาพระไฉซิงเอี๊ย และศาลาเจ้าพ่อกวนอู
สำหรับโกเจียกนั้น ท่านถึงแก่กรรมล่วงแล้วราว 10 ปี ทุกวันนี้ทางศาลเจ้าพ่อเขาตกและชาวพระพุทธบาทยังไม่ลืมท่าน ท่านได้มอบหมายให้โกดำหรือนายนิคมเป็นผู้สืบทอดทรงพระ 108 รวมทั้งดูแลศาลพระ 108 ท่าข้าม จ.ตรัง ด้วย
นอกจากงานประจำปีของเจ้าพ่อเขาตกซึ่งจัด 5 วัน คือ วันที่ 1-5 เดือน 2 จีนแล้ว ในช่วงเวลากลางปี ทางศาลเจ้ายังจัดให้มีงานทิ้งกระจาดในวันที่ 29 เดือน 7 จนถึงวันที่ 1 เดือน 8 จีน และงานกินเจเดือน 9 อีกด้วย ซึ่งล้วนเป็นงานบุญกอร์ปด้วยศรัทธาและนับถือของสาธุชน ในงานดังกล่าวในแต่ละปี มักมีชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
จากประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวมาข้างต้น นับว่าด้วยบุญบารมีแห่งเจ้าพ่อเขาตกและเจ้าพ่อหมื่นราม ที่เคยประกาศเป็นพี่น้องร่วมกันนั้น ได้ส่งผลก่อเกิดอานิสงค์มายังลูกหลานทั้ง 2 ศาล 2 เมือง ให้สมัครสมานรักใคร่กลมเกลียวกันดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อคราวศาลเจ้าพ่อหมื่นราม จ.ตรัง เข้าศาลใหม่บนถนนรัษฎานั้น ทางคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเขาตก อ.พระพุทธบาท ก็มาช่วยเหลืออย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน
งานประจำปีเจ้าพ่อเขาตกในปีพุทธศักราช 2550 นี้ กรรมการศาลเจ้าพ่อหมื่นราม จ.ตรัง ก็เดินทางมาช่วยเหลือศาลเจ้าพ่อเขาตกเฉกเช่นเดิมดังที่เคยปฏิบัติมา ปัจจุบันนายเซี้ย ร่างทรงเจ้าพ่อเขาตก พระพุทธบาท ถึงแก่กรรมแล้ว 4 ปี และนายฮวด ร่างทรงเจ้าพ่อหมื่นราม ตรัง ถึงแก่กรรมมานานเช่นเดียวกัน หลังจากทั้งสองลาลับล่วงไปแล้ว ยังไม่ปรากฏว่ามีร่างทรงของเจ้าพ่อทั้ง 2 ท่านได้มาทดแทนในศาลดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามความศรัทธาของสาธุชนทั้ง 2 ศาล 2 เมือง ก็ยังคงเหนียวแน่นดังเดิม
(ในภาพ กิมซิ้นของเจ้าพ่อเขาตกในเมืองตรัง)
สำหรับเมืองตรังปัจจุบันนั้น ยังไม่มีศาลของเจ้าพ่อเขาตกสำหรับบูชาเป็นการเฉพาะ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวตรังนับถือบูชาเจ้าพ่อเขาตกอย่างมากภายในหลายศาลเจ้า เช่น ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม ศาลเจ้าไต๋ฮงก๋ง มูลนิธิบ้วนเต็กเซี่ยงตึ้ง ศาลเจ้าไต่เซี่ยฮุดโจ้ว และศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นต้น
หากในภายภาคหน้าจะมีผู้มีจิตศรัทธาแรงกล้าร่วมกันก่อตั้งศาลเจ้าพ่อเขาตก เพื่อบูชาเจ้าพ่อเขาตกเป็นการเฉพาะ ก็จะทำให้เมืองตรังเป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งมีศาลบูชาพระสามพี่น้องร่วมสาบานโดยครบถ้วน นั่นคือ พระตั่วฮวดซือ เจ้าพ่อเขาใหญ่ พระยี่ฮวดซือ เจ้าพ่อเขาตก และพระซำฮวดซือ เจ้าพ่อหมื่นราม เมื่อนั้นสาธุชนชาวตรังคงร่วมกันอนุโมทนาด้วยความยินดียิ่ง
ขอขอบคุณ
คุณเสรี อำนาจสมบูรณ์ ประธานมูลนิธิเจ้าพ่อเขาตก อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
คุณสมจิตร คชฤทธิ์ กรรมการมูลนิธิ
คุณวิลาส สุขเกษม กรรมการมูลนิธิ
คุณบุญเลิศ เสนานนท์ นักภาษาโบราณ 7 หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร