เนื่องจากแท่นบูชาดังกล่าว ในศาลเจ้าที่กำหนดเป็นมณฑลพิธีถือศีลกินผักนั้น
มักสร้างตรงกับตำแหน่งแห่งพิธีการขึ้นเสาเต็งโก 燈篙 จึงมีผู้เรียกว่า เต็งโกตั๋ว
อันหมายถึงแท่นบูชาแห่งเสาเต็งโก ซึ่งหมายถึงราวเสาลำไม้ไผ่ที่นำมาใช้เพื่อแขวนตะเกียง
ในบางสถานที่อาจเรียกว่ากัวเต็ง 竿燈 หรือตามสำเนียงท้องถิ่นปักษ์ใต้บางแห่งเรียกโกเต้ง
ซึ่งก็ไม่ต่างกันในความหมาย เพียงแต่เป็นความถนัดตามพื้นถิ่นของบรรพบุรุษ
ที่มาจากเมืองจีนต่างเมืองและแรกเริ่มที่ได้เรียกมาตามกัน
เช่นชาวปักษ์ใต้เดียวกัน อาจเรียกของบางสิ่งที่คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน
หากฟังแล้วก็จะรับรู้ได้โดยไม่ต้องแปลความหมาย
ซึ่งนอกจากเมืองตรังแล้ว เมืองกระบี่ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เรียกเสาเต็งโกในความหมายเดียวกัน
(ในภาพ เป็นแท่นบูชาฟ้าดินของศาลเจ้ากิวอ๋องไต่เต่ห้วยยอด สร้างขึ้นทดแทนกระท่อมมุงจาก)
(ยังปรากฏตับจากบนหลังคาให้ย้ำเตือนถึงความเรียบง่าย พร้อมคำอักษรว่าเป็นแท่นบูชาแห่งเสาเต็งโก)