
สำหรับพ่อบ้าน หรือช่างเชื่อมมือใหม่ อาจยังไม่คุ้นชินกับงานเชื่อมที่ต้องใช้ตู้เชื่อมไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องทุ่นแรงที่ช่างมักมีติดตัวไว้เพื่อช่วยให้งานเชื่อมโลหะทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยใช้ความร้อนที่เกิดจากอาร์กของไฟฟ้าช่วยหลอมโลหะ 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน ดังนั้น มาดูกันว่าเครื่องมือช่างเชื่อมชนิดนี้มีทั้งหมดกี่แบบ ใช้งานแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
-
ตู้เชื่อมอินเวอร์เตอร์ หรือ ตู้เชื่อมไฟฟ้า MMA(Manual Metal Arc)
ตู้เชื่อมชนิดนี้จะใช้อาร์กจากกระแสไฟฟ้าระหว่างลวดเชื่อมชนิดธูปกับชิ้นงาน ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้ปลายลวดหลอมละลายลงไปในแนวเชื่อม ส่วนฟลักซ์(Flux) หรือสารเคลือบลวดเชื่อมที่หลอมละลายบางส่วนจะระเหยกลายเป็นแก๊สปกคลุมบริเวณแนวที่เชื่อมเพื่อป้องกันการเกิดสนิมจากอากาศที่มีออกซิเจน ส่วนที่เหลือจะคอยปกคลุมแนวเชื่อมเอาไว้ ตู้เชื่อมชนิดนี้มีทั้งแบบที่ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ ข้อดีของตู้เชื่อมชนิดนี้คือ ใช้เชื่อมได้เร็ว พกพาสะดวก ราคาไม่แพง และไม่ต้องใช้แก๊สในการเชื่อม จึงเหมาะกับช่างมือใหม่ ส่วนข้อเสียคือ มีความร้อนและสะเก็ดไฟที่เกิดจากอาร์ก มีควันมาก ไม่เหมาะกับงานเชื่อมชิ้นบาง เช่น สเตนเลส หรือ อะลูมิเนียม และต้องมีแหล่งจ่ายไฟ
-
ตู้เชื่อมอาร์กอน หรือ ตู้เชื่อม TIG(Tungsten Inert Gas)
หลักการทำงานของตู้เชื่อมไฟฟ้าชนิดนี้คือใช้การนำกระแสไฟฟ้าที่ปลายลวดทังสเตนส่งผ่านไปยังแนวเชื่อมจนเกิดความร้อนที่ทำให้โลหะหลอมละลายจนติดกัน และแก๊สอาร์กอนจะทำหน้าที่เหมือนฟลักซ์ของตู้เชื่อมแบบ MMA โดยจะปกคลุมแนวเชื่อมเอาไว้เพื่อป้องกันสนิมที่เกิดจากอากาศซึ่งมีออกซิเจน ข้อดีของการใช้ตู้เชื่อม TIG คือ แนวเชื่อมจะดูเรียบร้อย สวยงาม สะอาด มีควันน้อย ไม่มีประกายไฟ ไม่ต้องใช้ลวดเติม และสามารถเชื่อมงานที่มีความบาง เช่น สเตนเลส อะลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น แต่มีข้อเสีย คือ ตอนใช้งานจะเชื่อมได้ช้า ต้องใช้ทักษะและความชำนาญในการเชื่อม ต้องมีแหล่งจ่ายไฟ ใช้แก๊ส และราคาแพง
-
ตู้เชื่อมคาร์บอน หรือ ตู้เชื่อม MIG(Metal Inert Gas)
ตู้เชื่อมไฟฟ้าชนิดนี้เรียกว่าตู้เชื่อมคาร์บอนก็เพราะว่าใช้คาร์บอนไดออกไซด์ขณะเชื่อม โดยเครื่องจะป้อนลวดลงไปที่ชิ้นงานอัตโนมัติเพื่อให้เกิดการหลอมละลายอย่างต่อเนื่อง และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปกคลุมตามแนวเชื่อมเพื่อป้องกันไม่ให้ออกซิเจนในอากาศเข้าไปที่บ่อหลอมละลาย ข้อดีก็คือ สามารถใช้เชื่อมโลหะได้แทบทุกชนิด ตั้งแต่ เหล็ก สเตนเลส อะลูมิเนียม ทองแดง เดินแนวเชื่อมได้รวดเร็ว ต่อเนื่อง ไม่ต้องเปลี่ยนลวดบ่อยๆ เพราะเครื่องจะป้อนลวดโดยอัตโนมัติ ข้อเสียก็คือ ต้องใช้ความชำนาญในการเชื่อม การตั้งค่าเครื่องก็ซับซ้อน ต้องมีแหล่งจ่ายไฟ ใช้กระแสไฟสูง จึงไม่เหมาะกับการเคลื่อนย้ายบ่อย
จากข้อมูลดังกล่าว น่าจะช่วยให้คุณเข้าใจความแตกต่างของตู้เชื่อมไฟฟ้าที่มีในท้องตลาดมากขึ้น ก่อนซื้อมาใช้อย่าลืมเช็กให้ดีว่าเหมาะกับประเภทงานที่ทำหรือไม่ จะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง